“เวลา..เท่ากัน” ในผู้เจ็บป่วยทั้งหลาย จิตมักเศร้าหมองจากเหตุวิตกกังวลต่อความเจ็บป่วยนั้นๆ ครั้นรักษานานความเจ็บป่วยนั้น ก็ยังไม่ทุเลาลง ไม่หายขาด ความเจ็บป่วยกลับเพิ่มมากขึ้นๆ จิตย่อมวิตกกังวลเศร้าหมองเพิ่มมากยิ่งขึ้น นึกหวาดกลัวถึงความตายที่จะมาสู่ตน จิตสับสน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่สงบ มีความทุกข์ทั้งกายใจ เมื่อไม่มั่นใจ…ก็หาที่พึ่งทางใจ.. บ้างก็หาที่พึ่งไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพ บ้างก็ทำพิธีกรรมต่อชะตา แก้กรรม ตามความเชื่อ ให้สบายใจ บ้างก็อยากรู้อนาคตว่า จะหายป่วยหรือไม่ ? จะมีเวลาเหลืออีกเท่าไร ? (คิดไปว่าต้องตายแน่ๆ) เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเจ็บป่วย..ดังข้างต้น หากวิตกกังวลจิตกระวนกระวาย ไม่สงบ อยากรู้อนาคตว่า จะหายป่วยหรือไม่ ? จะมี “เวลา..” เหลืออีกเท่าไร ? ให้จิตพิจารณาเห็นไปตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์.. “ทุกคน”..ล้วนได้โอกาส “เวลา..เท่ากัน” ทุกเพศวัย เราควรใช้เวลาปัจจุบันสร้างคุณค่าต่อจิต/ต่อชีวิตตนเองอย่างไร? ให้เป็นวันสำคัญของเราทุกวัน และทำทุกๆวันให้มีความสุข ดีกว่าไปคิดถึงเวลาอนาคตที่เหลือ ว่าจะอยู่ได้อีก กี่วัน/กี่เดือน/กี่ปี เพราะทุกๆคนไม่มีใครเลยที่มีเวลามากกว่าใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนให้เรา “ไม่ประมาท” ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน เราทุกคนต่างมีเวลาที่เหลืออยู่วันละ 24 ช.ม. เท่ากัน จึงควรใช้เวลาปัจจุบันที่เหลืออย่างไร? ให้มีคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่จิตของตนเอง ปฏิบัติธรรมให้จิตผ่องใสงดงามไปตามธรรม แล้ว ทุกๆวันเราจะมีความสุข ไม่มีวันอนาคตที่นำมาคิดทุกข์กับปัจจุบัน จิตผ่องใสเป็นสุขทุกๆวันจนถึงวันสุดท้าย..และวินาทีสุดท้าย ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อจิตพิจารณาได้ตามนั้นแล้ว.. จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท…
เวลา..เท่ากัน
ผู้ชี้ทาง..?
ผู้ชี้ทาง..? ในผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผล ไม่ชักชวนกันเดินผิดทาง ไม่เดินผิดทาง ไม่ชี้ทางผิดจากพระนิพพาน ในเทศกาลปีใหม่ 2560 เราได้เห็นการชักชวนให้..แก้ปีชง, แก้กรรม, ไหว้ราหู, นอนโลง, สะเดาะเคราะห์, ต่อชะตา, เสริมดวง ..ฯลฯ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนมาก หรือมุ่งเอาทรัพย์มาก “ความเชื่อ..” ส่วนบุคคลของผู้ไม่รู้ในพระสัจธรรมนั้น ไม่ผิด และไม่ควรกล่าวตำหนิผู้มีความเชื่อผิดๆ จากทางมรรคผล แม้เราเห็นวัดทำ สมมุติสงฆ์กระทำพิธี สิ่งทั้งหลายนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องตามคำสอน พระพุทธเจ้าเลย เพราะต่างก็เป็นผู้ไม่รู้ (อวิชชาครอบงำจิต) หรือ เขาทั้งหลายมิได้สนใจมรรคผล พระนิพพาน แต่เมื่อใด..เราปฏิบัติธรรมปรารถนามรรคผล แม้ปัจจุบันเรายังปฏิบัติยังไม่ถึง../ยังไม่ได้มรรคผล ก็ให้ใช้กำลังสติปัญญาทางโลกของตน พิจารณาการกระทำสิ่งดังกล่าวนั้นว่า .. ใช่การปฏิบัติทางตรงสู่มรรคผลที่เราต้องการเดินตามหรือไม่? ทำให้เราเสียเวลาแก่ลงๆไปเปล่าประโยชน์หรือไม่? หากใช่..ทางมรรคผลที่เราต้องการก็เดินต่อ หากไม่ใช่..ก็ให้ละเลิกเสีย อย่าเดินผิดทาง ต้องทำทุกปีๆ ตลอดชีวิต ให้เสียเวลาเปล่า.. และแม้เลือกเดินผิดทางมรรคผลโดยไม่รู้ตัว ยังไปชักชวนลูกหลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ และคนอื่นๆ ให้เดินตามความเชื่อผิดๆของตน ด้วยเข้าใจว่าตนเองกำลังทำบุญช่วยเหลือคนอื่นๆ ให้พ้นทุกข์ แต่ชวนคนอื่นเดินผิดทางเสียเองด้วยเข้าใจผิดไปนั้น ก็ปิดทางมรรคผลตนเองเสียสิ้น น่าเสียดายต่อผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งต้องการมรรคผลตั้งแต่แรก ซึ่งตั้งใจไว้แต่เดิม นานวันก็ล้มเลิกเป้าหมายมรรคผลไปเสีย ขันติไม่เพียงพอสู้กิเลส เปรียบเหมือนติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิด เม็ดอื่นๆก็ผิดตาม ปีใหม่นี้ ให้เริ่มจิตใหม่ ให้ถูกต้อง ให้ถูกทางเสีย…
ข้อคิด..เตือนจิตตน
ข้อคิด..เตือนจิตตน “การติเตียนผู้อื่น..ย่อมไม่ดีแก่จิตตน” เพราะความสุขของแต่ละคน ต่างก็ไม่เหมือนกัน ด้วยทำตามกิเลสของตน แม้อาจจะเหมือนกันบ้างในบางครั้ง หรือในช่วงเวลาหนึ่ง และแม้ความสุขในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมเอง ก็ไม่เหมือนกัน เพราะล้วนปฏิบัติธรรมยังไม่สิ้นกิเลส จิตผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเกิดความคิดตำหนิติเตียนความสุขของผู้อื่น ซึ่งแตกต่างไปจากตน ว่าความสุขอย่างนั้นไม่ดี ความสุขอย่างนี้สิดี จิตจึงเกิดความคิดติเตียนความสุขของผู้อื่น อยู่เสมอๆ จนเป็นความเคยชิน จิตผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่มีความสุข อีกทั้งยังก่อเวรซึ่งกันและกันโดยไม่รู้ตัว ผู้ปฏิบัติธรรมจึงควรเพียรฝึกฝนจิตให้มีสติอยู่เสมอๆ ให้ “จิตมีความสุข” เพราะผลของการละกิเลสไปได้เป็นลำดับๆ ฝึกฝนจิตไม่ให้ติเตียนผู้อื่น นั่นแหละ..จิตผู้ปฏิบัติธรรมย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่เบียดเบียน เป็นผู้ไม่ก่อเวร จิตผู้ปฏิบัติธรรมย่อมถึงความสุขแท้จริงด้วยธรรมฯ (อุทยานธรรมพระพุทธรูปอู่ทองอุดมทรัพย์ /24 ก.ค.59)
อุทยานธรรมพระพุทธรูปอู่ทองอุดมทรัพย์
“เวลา..” มีเท่ากันทุกๆ คน..อย่า ใช้ชีวิตหลงเพลิดเพลิน เดินตามกระแสกิเลสใจตนเอง ตั้งอยู่ในความประมาท หายใจทิ้งเปล่าๆ โดยไม่มีเวลา..มาจัดสรรเวลาให้ตนเอง ได้หัด “ภาวนา”
อุทยานธรรมพระพุทธรูปอู่ทองอุดมทรัพย์
ธรรมะเป็นเรื่องภายในจิต ภายในกาย เราทุกคน ซึ่งต้องหมั่นพิจารณาด้วยสติ (สัมมาทิฏฐิ) แต่เรามักมองไป นอกจิต นอกกาย จนในที่สุด ยุ่งเหยิง.. วุ่นวาย.. อยู่กับเรื่อง ภายนอกจิต ภายนอกกาย จนตายจากไป